Tao Dialogue 5 บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ‘เต้า’ บทบาททางพิธีกรรม

Tao Dialogue 5

บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ‘เต้า’ บทบาททางพิธีกรรม

ชลธิรา สัตยาวัฒนา  ผู้เขียน

ศุภฤกษ์ ตั้งใฝ่คุณธรรม  ผู้แปลคำอธิบายภาพ (ภาษาจีน)

‘เต้า’ ในฐานะภาชนะ บรรจุของเหลว เช่น น้ำ หรือเหล้า  ฝรั่งคงนึกไม่ออกว่า ‘น้ำ’ มีความพิเศษเฉพาะอย่างไรในพิธีกรรม  เมื่อมีการขุดพบศิลปะวัตถุโบราณ ที่บรรจุของเหลวได้ มักนิยามสิ่งนั้นว่า เป็น ‘wine container’

ภาพศิลปะวัตถุสำริด :

    ‘พระเต้า (สามขาอวบ) พวยการูปเสือ’ [สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก [1046-771 BCE.]

     * ชื่อเรียกศิลปะวัตถุนี้ โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา ๒๕๖๕.

พิจารณาจากรายละเอียดของศิลปะวัตถุชิ้นพิเศษนี้ อาจเรียกว่า “พระเต้า”* ด้วยคำไทดั้งเดิม 

เป็นศิลปะวัตถุสำริดเลอค่า เทียบอายุได้ว่าตรงกับที่ทางการจีนเรียกว่า สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก

(จีน: ซีโจว 西周; พินอิน: Zīzhōu, 1046-771 ปีก่อน ค.ศ.; เป็นครึ่งแรกของ ราชวงศ์โจว ในยุคโบราณของแผ่นดินจีน  เริ่มต้นเมื่อ โจวอู่อ๋อง ล้มล้างราชวงศ์ชาง)

การสลักลายรอบภาชนะ เป็นภาษาสัญญะ ที่ยังไม่มีใครอ่านออกและตีความได้ 

เดิมนักโบราณคดีเข้าใจว่าเป็น ‘ลวดลายทางศิลปะ’ ชนิดหนึ่ง ที่ทางการจีนเรียกกันว่า ‘ลายเต้าตี’ แล้วฝรั่งก็เรียกตามนั้น

(จีน: Taotie (饕餮) is an ancient Chinese mythological creature that was commonly emblazoned on bronze and other artifacts during the 1st millennium BC., Wikipedia)

ในทศวรรษปัจจุบัน มีนักวิชาการชาวตะวันตกบางท่านลงความเห็นว่า สัญรูป Taotie พร้อมด้วยลวดลายต่าง ๆ ประกอบหน้ากาก ‘เต้าตี’ น่าจะเป็น ‘จารึก’ อักขระโบราณ (Inscription) ที่มีใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ซาง ต่อเนื่องมาถึงราชวงค์โจวด้วย  หากแนวความเห็นนี้ถูกต้องก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเท่ากับเป็นการรับรองว่า ชาวเยวี่ยบางแคว้นหรือบางกลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีการคิดประดิษฐ์ ‘อักขระ’ เป็นสัญญะเพื่อการสื่อสารและแสดงตนมาแต่โบราณกาล (ในห้วงเวลาซึ่งเดิมถือว่าเป็น ‘สมัยก่อนประวัติศาสตร์’ ที่มีแต่เรื่องราวในปรัมปราคติ และยังไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของตนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร)

‘พระเต้า (สามขาอวบ) พวยการูปเสือ’ พร้อมด้วยลวดลายสัญอักษร ‘เต้าตี’ ขุดพบอยู่ใน สุสาน ‘เย่เซิงโหว’ ที่ภูเขาเย่เจียซาน ที่ชนชาวตระกูลเย่ถือครองเป็นภูมิลำเนา ณ เมืองสุยโจว มณฑลหูเป่ย (ปัจจุบัน)

    ร่างที่อยู่ในสุสานคือ ‘เย่เซิงโหว’ อยู่ในตำแหน่งชั้นยศ ที่อาจเรียกว่า ‘พระยาเย่’ ทางการจีนอธิบายว่า ‘เซิงโหว’ เป็นชั้นยศระดับ ‘พระยา’ ครองเมือง หรือ เจ้าเมือง นั่นเอง

สถานที่จัดแสดง ‘พระเต้า (สามขาอวบ) พวยการูปเสือ’ :

     สำนักโบราณวัตถุ มณฑลหูเป่ย ในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์เมืองซุยโจว.

(随州市博物馆藏)

การตีความหมายเชิงสัญญะ :

    “พระเต้า (สามขาอวบ) สลักลาย ‘เต้าตี’ มีรูปสัญญะ ‘เสือ’ ที่พวยกาน้ำเต้า” บ่งบอกว่า “สายด้ำเสือ” เป็นสายตระกูลผู้ถือครองพระเต้านี้ และบ่งชี้ชัดว่า “สายด้ำเสือ” อยู่ร่วมราก ‘สายวัฒนธรรมน้ำเต้า’  มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า พระเต้ารูปนี้มีบทบาทหน้าที่ทางด้านพิธีกรรม; อาจใช้ในการหลั่งน้ำ กรวดน้ำ หรือกระทั่งพิธีกรรมแช่งน้ำ (พิพัฒน์สัตยา) ด้วยก็เป็นได้

สังคมสยามและสังคมไทดั้งเดิม หมายรวมถึงเมื่อครั้งยังเป็น ‘ชาวไป่เยวี่ย’ นั้น มีความผูกพันใกล้ชิดกับผล ‘น้ำเต้า’ (หมากเต้าปุง) เป็นพิเศษ นอกจากใช้บรรจุน้ำเพื่อใช้สอยและดื่มกินในชีวิตประจำวันแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีกรรมด้วย เช่น ในการ ‘กรวดน้ำ’ และพิธีแช่งน้ำ แต่เดิมก็คงเรียกตรง ๆ ตามรูปทรงว่า ‘น้ำเต้า’ (บ้างก็เรียก ‘น้ำต้น’ ซึ่งอาจตีความเชิงสัญญะได้ทำนอง ‘เป็นต้นสาย, ต้นทาง, ต้นเชื้อ’)

ครั้นวิถีสังคมวิวัฒน์มาเป็น ‘สังคมสยาม’ ก็มีการประกอบคำภาษาบาลีสันสกฤตขึ้นใช้เป็นราชาศัพท์ด้วย เช่น

     ราชาศัพท์:

    พระตะพาบ, พระเต้า (คนโท) แปลว่า “คนโทน้ำ”

    คำอื่น ๆ ในหมวดคำราชาศัพท์ :

     คนโทน้ำลายทอง;

     คนที ใช้เรียกเครื่องถ้วยสังคโลกสุโขทัย (ตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง)

พบว่ามีคำราชาศัพท์ที่ใช้ในสังคมไทยสยาม สมัยรัตนโกสินทร์ด้วย คือ

    ‘พระเต้าทักษิโณทก’  

     หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่น้ำ ทำจากทองคำ สามารถแยกชิ้นส่วนออกจากกันได้

     ส่วนหัว คือ ส่วนฝาปิด และ ส่วนตัวพระเต้า ฝาปิดทำเป็นรูปพรหมพักตร์

     ส่วนลำตัวพระเต้านั้น นิยมตกแต่งด้วยลายเครือเถา

     มีลายพญานาคสามหัว และ ลายเทวดานั่งขัดสมาธิ มือทั้งสองถืออาวุธ (อยู่ภายในกรอบรูปทรงรีปลายแหลม).

ในทางมานุษยวิทยาสัญนิยม อาจตีความหมายเชิงสังเคราะห์แบบบูรณาการข้ามพื้นที่และยุคสมัยได้ว่า

      รูปสัญญะศิลปะวัตถุ ทรงน้ำเต้า (สามขาอวบ) เป็นสิ่งสืบทอดมาแต่โบราณกาลในสายวัฒนธรรมไป่เยวี่ย

     ส่วนลาย ‘พญานาคสามหัว’ เป็นมรดกสัญรูปที่ตกทอดมาแต่ครั้งเมื่อชาวไทกลุ่มหนึ่ง ผู้นิยามตนเองว่า เป็นเชื้อเครือสายตระกูล “โยนกนาคพันธุ์” (ด้ำงู~ด้ำนาค) เริ่มจาก ‘สิงหนวัติกุมาร’ ผู้สถาปนาอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ สิงหนวัตินคร ศรีเชียงแสน (อ่าน “ตำนานสิงหนวัติกุมาร”)

     ลายเทวดาถืออาวุธ  มีที่มาจากลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ที่ถือผีด้ำบรรพชน โดยต่อมาได้มีการทดเทิด ‘ผีด้ำ’ ให้เป็น ‘เทวดา’ หรือที่เรียกกันว่า ‘อาฮัก’ (เข้าบาลีว่า ‘อารักษ์’ ปกปักคุ้มครองลูกหลานว่านเครือเชื้อด้ำ)

     ส่วนลายพรหมพักตร์ (หน้าพรหม) เป็นการประกอบสร้างจากลัทธิพราหมณ์ ที่เข้ามา
‘ครอบ’ ในชั้นหลัง อาจนำพาโดยอิทธิพลของพราหมณ์ประจำราชสำนักสยาม

ทักษิโณทก (คำนาม ภาษาสันสกฤต) :

     หมายถึง นํ้าที่หลั่งในเวลาทําทานเพื่ออุทิศผลให้แก่ผู้ตาย;

     นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด.

    ไทดั้งเดิมเรียกว่า ‘นํ้ากรวด’ คือนํ้าที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ ซึ่งใหญ่โตหรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ เช่น วัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น

    เมื่อใช้ในราชาศัพท์ เป็นชื่อเรียกของ ‘พระเต้า’ ชนิดหนึ่ง เรียกย่อว่า ‘พระเต้าษิโณทก’ (ส.).น.

     “ทักษิโณทก” แปลว่า น้ำสำหรับกรวด

     กริยาราชาศัพท์ที่หมายถึง กรวดน้ำ คือ “ทรงหลั่งทักษิโณทก”;

     พระเต้าที่ใช้กรวดน้ำเรียกว่า “พระเต้าทักษิโณทก”


“การหลั่งทักษิโณทก” :

ปรากฏในการบำเพ็ญพระราชกุศล เช่น การบำเพ็ญพระราชกุศลทรงพระราชอุทิศถวายแด่สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช หรือสมเด็จพระบรมราชบุพการี 

นอกจากนี้ ยังพบการหลั่งทักษิโณทกในโอกาสสำคัญ เช่น เมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ เป็นสัญลักษณ์แสดงคำมั่นและประกาศแก่พระแม่ธรณีให้เป็นพยานรับรู้.

สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากมีพระบรมราชโองการเป็นปฐมและพระมหาราชครูพราหมณ์รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงหลั่งทักษิโณทกขณะทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการนั้น

อนึ่ง คำว่า
‘ทักษิโณทก’ นี้ ในเอกสารโบราณมักใช้ว่า ‘สิโตทก’

(คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

จากความหมายข้างต้น “ทักษิโณทก” คือน้ำที่ใช้ในการบำเพ็ญพระราชกุศล ใช้กรวด หรือใช้ในการหลั่งเพื่อแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด

ในกรณีสมเด็จพระนเรศวร ทรงทำพิธีหลั่งทักษิโณทก เพื่อเป็นการป่าวประกาศเทพยดาฟ้าดิน แม่พระธรณี ให้ได้รับรู้ว่ากรุงศรีอยุธยา ได้ประกาศอิสรภาพแล้ว ไม่ยอมขึ้นกับหงสาวดีอีกต่อไป

    * สมเด็จพระนเรศทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๗ หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๑๒.

ในหนังสือพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนเล่าเหตุการณ์ที่พระนเรศวรทรงหลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพไว้ว่า

    “…สมเด็จพระนเรศวรดำรัสเล่าเรื่องราวที่พระเจ้าหงสาวดีจะให้ล่อลวง (พระองค์) ไปทำร้าย ให้ปรากฏแก่คนทั้งปวงแล้ว  ก็ทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินด้วย ‘สุวรรณภิงคาร’ (พระเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมสโมสรว่า นับแต่นี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนอีกต่อไป”

     * เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงมี ๒๙ พระชันษา.

ศัพท์ที่อยู่ในชุดคำเดียวกันกับ ‘เต้า’ :

     กุณฑี, คนที คนโท (คำมอญ ?)

     เต้าน้ำ, ไห (คำไท)

     ภฤงคาร, สุวรรณภิงคาร (คำสันสกฤต)

     ฉนัง (คำเขมร)

*****

บรรณานุกรม

ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. (2559). สิ่งของพุทธบูชาพระพุทธชินราชในเอกสารประวัติศาสตร์: วัตถุพยานแห่งความศรัทธา. ศิลปวัฒนธรรม, 37(11), น. 147-167.

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระ ราชหัตถเลขา เล่ม 1. (2544). [ม.ป.ท.: ม.ป.พ.]

โสภณธรรมวิภัช, พระครู และคณะ. (2550). พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัด พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บางกอกสาส์น.

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com