บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๓)

บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๓)

ปัจจุบัน ‘กวีนิพนธ์ชาติพันธ์ุวรรณนา’ ได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะเป็น ‘ศาสตร์’ ที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งวิชาคติชนวิทยา มานุษยวิทยา และวัฒนธรรมศึกษา ตามแนวคิดหลังสมัยใหม่

ในจุดเริ่มต้นนั้น นักคติชนวิทยาแนวโครงสร้างนิยม ได้หวนกลับไปให้ค่าต่อ ‘มุขปาฐะ’ และการเล่าเรื่องขนาดยาว เช่น มหากาพย์ Homer แบบปากเปล่า โดยเห็นว่าการแสดงออกทางวาจาแบบมุขปาฐะ หรือการเล่าเรื่องแบบปากเปล่า ทำให้เห็นกระบวนการทางวัฒนธรรมในการประกอบกันขึ้นมาของทั้งความหมายและรูปแบบ ตัวอย่างที่เด่นชัดของไทยเช่น การขับเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งถ้าวิเคราะห์เจาะลึกลงรายละเอียด จะพบคุณค่าของวรรณกรรมแนว Ethnopoetics กำกับอยู่ในเชิงโครงสร้างตลอดทั้งเรื่อง มหากาพย์เรื่อง “ท้าวฮุ่ง” (ขุนเจือง) ก็มีความโดดเด่นทางด้านวรรณกรรมชาติพันธุ์วรรณนาเช่นกัน ทั้งสองเรื่องนี้โดดเด่นทั้งเนื้อหาและคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ การสื่อสารมีนัยยะสำคัญถึงระดับมาตรฐานคุณค่าวรรณคดีสากล

‘ศาสตร์แห่งกวีนิพนธ์ชาติพันธุ์’ ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากอิทธิพลของการสื่อสารในสมัยปัจจุบัน ที่เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Ethnography of Communication’ แม้ว่าการแปลทับศัพท์ว่า ‘ชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร’ จะฟังดูเข้าใจยาก เราอาจทำความเข้าใจโดยพิจารณาในเชิงแนวเทียบได้ เช่น นิตยสาร “ทางอีศาน” อยู่ในกระแส

‘ศาสตร์แห่งกวีนิพนธ์ชาติพันธุ์’ ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากอิทธิพลของการสื่อสารในสมัยปัจจุบัน ที่เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Ethnography of Communication’ แม้ว่าการแปลทับศัพท์ว่า ‘ชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร’ จะฟังดูเข้าใจยาก เราอาจทำความเข้าใจโดยพิจารณาในเชิงแนวเทียบได้ เช่น นิตยสาร “ทางอีศาน” อยู่ในกระแสนี้ การจัดตั้งวงดนตรีแนวพื้นบ้านอีสาน วง “หมาเก้าหาง” ก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน เนื้อในก็คือ ‘ดนตรีชาติพันธุ์วิทยา’ (Ethnomusicology) และทั้ง บทกวีชาติพันธุ์ ‘หมาเก้าหาง’ วงดนตรี ‘หมาเก้าหาง’ และทิศทางของนิตยสาร ‘ทางอีศาน’ ล้วนเป็น ‘ชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร’ ซึ่งแน่นอนที่สุด ทิศทางที่จะพัฒนาต่อไปก็น่าจะเป็นวิธีการศึกษา ‘มุขปาฐะศิลป์’ ตามแนว ‘Dialogue’ เช่นการนำ ‘ผยา’ และ ‘หมอลำ’ ของชาวอีสาน มาศึกษาตามแนววิพากษ์ ‘วาทกรรม’ มีรายละเอียดอยู่ในภาคทฤษฎีของงานชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ๒๕๖๑, ๒๕๖๕.)

เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่า ศาสตร์แห่งกวีนิพนธ์แนวชาติพันธุ์วรรณนา เริ่มก้าวขึ้นสู่เวทีการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ของชนชั้นรากหญ้า คนพลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย ซึ่งภายในแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมล้วนมี ‘กวีมุขปาฐะ’ (นักแหล่ นักซอ หมอลำ หมอผยา นักด้น นักเสภา) ของตนเองมาแต่ดั้งเดิม ‘กวีนิพนธ์ชาติพันธุ์วรรณนา’ จึงเริ่มมีพื้นที่ของตนเองในทางสังคมพื้นถิ่นและในวงกว้างด้วย นักมานุษยวิทยาก็ร่วมอ่าน ‘บทกวีชาติพันธุ์วรรณนา’ ในเวทีวิชาการสาธารณะ เป็นการเสนองานชาติพันธ์ุวรรณนาในรูปแบบใหม่ รวมถึง “แรปเปอร์” หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ซึ่งท้าทายต่อการสร้างวาทกรรมเชิงศิลปะแนวชาติพันธุ์วรรณนาไท|ไทย ในลักษณะใหม่ บนเวทีโลก ดังที่ “มิลลิ” สาวน้อยแรปเปอร์ไทยที่นำเอา “ข้าวเหนียวมะม่วง” ขึ้นเวทีระดับโลก

เชื่อว่า ปรีดา ข้าวบ่อ กับ พลพรรคนักเพลง “หมาเก้าหาง” ยังก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางสาย ‘กลกลอนกานท์กวี’ และบทเพลง แนว “ทางอีสาน” ทั้งนี้ การขัดเกลาตัวเองทั้งทางความคิดและภาษาที่ใช้ในเชิง ‘อรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา’ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ ‘ลีลา’ หนึ่งเดียวในการพัฒนางานศิลปะ

ในยุค “หลังสมัยใหม่” ซึ่งสังคมไทยก็อยู่ร่วมบริบทและเส้นทางแล้วนั้น ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ของไทยคนล่าสุด ก็เป็นตัวอย่างพิเศษเฉพาะ ที่ได้สร้างงานเขียนประเภทนวนิยาย แนว ‘อรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา’ ด้วยลีลา ‘แฟนตาซีนิยม’ แนวหลังสมัยใหม่

ในเรื่อง เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้เขียน ประวัติศาสตร์ เขียน “บทซ้อนบท” ให้ตัวละคร มี ‘ตัวตน’ เล่นกับบทบาท ‘การลืม ความทรงจำ’ ที่ ‘อำนาจนำ’ ประสงค์ให้ลืม “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ส่วนสำคัญนี้เสีย ในความ “จำไม่ได้” ของเดฟั่น จึงกลายเป็นการรื้อฟื้น…

“พลังและอำนาจของเรื่องเล่า ที่พยายามดิ้นรน นำพาตัวเอง
ไปยังดินแดนที่ ประวัติศาสตร์นิพนธ์อับจนหนทาง”

ด้วยอัตราเร่งที่แรงพอ โดยให้เวลากับการ ‘เกลากลกลอน~รหัสภาษา~วาทกรรมอำพราง’ ให้ละเมียดยิ่งขึ้น โดยมุ่งให้ ‘คมทั้งคำ คมทั้งความคิด คมทั้งวาทกรรม’  

งานวรรณกรรมร่วมสมัย คงจะโดดเด่นขึ้นมาได้อีกหลายเท่า หากหนุ่มสาวและกวีนักเขียนร่วมสมัย พยายามค้นหา ‘ทาง’ เฉพาะของตนเอง ที่คนอื่นก็มาทาบ ‘ทาง’ ของเขาไม่ได้ แล้วมุ่งสร้างสรรค์งานที่ “อำนาจนำ” ทำอะไรไม่ได้…

“ดุจนรกแตกพลันต่อหน้าต่อตา”

สภาพสังคมไทยในบริบทวิกฤติโลก ไม่ใช่เวลาที่จะมาฟูมฟายกับ “รากเหง้า” ที่ปราศจากการวิพากษ์ และทบทวนสรุปบทเรียน

“วีรกรรมบรรพหมาอ่าองอาจ                   เปรี้ยง! สายฟ้าเทวาฟาดปาดหางหาย
โทษขโมยหางแปดเส้นกระเด็นกระจาย     เหลือหางเดียวกระดิกดายในวันนี้…”

ถึงเวลาที่เราควรสรวมจิตวิญญาณนักวิพากษ์ที่รู้ลึกใน “รากเหง้า” ขุดรากถอนโคน “รากเหง้าที่เน่าเสีย”

คำท่านอังคารหลั่งจากใจ

“กี่กัปกัลป์อสงไขยละเหวยหวา

เฝ้านั่งนอนบริกรรมสอนเทวา            

แต่ปวงข้าฯมนุษย์โลกยิ่งพ่ายพัง

หยุดพูดเลิกประทับแท่นวิมานเมฆ      

หยุดเสกคาถามนตราขลัง

ลงมาได้แล้วจากแก้วบัลลังก์              

จงมานั่งนิ่งฟังความเป็นจริง”


ภาคผนวกท้ายบท

วรรณกรรม~วรรณคดี

สองคำนี้ ความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยทั่วไปน่าจะใช้ได้ทั้งสองคำ คู่ขนานกันไป ในบางบริบทใช้แทนที่กันได้ เพราะมีนัยยะใกล้เคียงกัน สื่อความหมายถึง “งานเขียนเชิงสร้างสรรค์” ที่ประกอบสร้างขึ้นด้วยลีลาทางศิลปะรูปแบบต่าง ๆ แต่ถ้ากล่าวอย่างเคร่งครัด ในทางวิชาการ สองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

หากเทียบกับศัพท์ภาษาอังกฤษ

คำว่า “วรรณคดี” มักใช้กับผลงานเขียนแนวสร้างสรรค์ ในความหมายของ ‘literature’ ซึ่งมีมิติของการบ่มทางการเวลาและคุณค่าเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนคำ “วรรณกรรม” มักใช้ในความหมายของชิ้นงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ ตรงกับศัพท์ ‘literary work’

Literature ตามนัยยะแบบคลาสสิก มีนัยความหมายเชิงคุณค่า ที่ผ่านการประเมิน โดยการตกลงหรือรับรู้รับรองแล้ว มีการสืบทอดและส่งต่อกันมาผ่านยุคสมัยต่าง ๆ จนมีความยืนยงคู่ยุคสมัย ท้าทายกาลเวลา

  • ความหมายตรงนี้ กล่าวในบริบทสังคมไทย ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ “วรรณคดีสโมสร” ยกย่อง อาจเป็นผลงานทางวรรณกรรม อันมีคุณค่าด้านต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ที่มาได้รับการยกย่องในชั้นหลังก็ได้
    Literary work หรือที่เรียกกันว่า “วรรณกรรม” หมายถึง ชิ้นงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ ที่มีการเผยแพร่ในวงการนักอ่านนักเขียน สื่อต่าง ๆ
    มีการจัดพิมพ์หรือเผยแพร่ด้วยรูปการณ์หลากหลาย โดยที่ความตกลงยอมรับในเชิงคุณค่า อาจยังไม่เป็นที่ยุติร่วมกันในทางสังคม ของวงการนักอ่านนักเขียน และวงวิชาการด้านภาษาและวรรณคดี รวมทั้งวงการวิชาชีพสื่อสร้างสรรค์ แม้ว่าบางชิ้นอาจได้รับการตีตราเชิงสถาบันแล้วก็ตาม เช่น การได้รับรางวัลวรรณกรรมขององค์การ สถาบัน สื่อ สนพ.ต่าง ๆ ผลงาน “วรรณกรรม” ยังต้องผ่านกาลเวลาทดสอบ ความยืนยงเชิงคุณค่า ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบ และเป้าหมายเชิงสร้างสรรค์ ผลกระทบต่อวงการ และผลสะเทือนทางสังคม
    รวมถึงคุณค่าในทางสากลต่อมวลมนุษยชาติ จึงจะได้รับยกย่องว่าเป็น “วรรณคดี”
    เหตุนี้ จึงเรียกกันว่า “รางวัลวรรณกรรมซีไรต์”
  • จนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า ยังไม่มีงานวรรณกรรมซีไรต์ชิ้นใด (ไม่ว่าของชาติใดในอาเซียน) ได้รับการประเมินคุณค่าและยกย่องว่า เข้าขั้นเป็น “วรรณคดี” ที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติในทางสากล (universal literary value)

****

“ส่งบทวิจารณ์ “ทาง” ฉบับปรับปรุงใหม่ มาให้กำลังใจทั้งคุณปรีดา อ.ทองแถม และน้อง ๆ วง “หมาเก้าหาง” ได้แชร์บทวิจารณ์นี้ให้ท่าน อ.ฉัตรทิพย์ ด้วย เจตนาคือ ส่งมาเยี่ยมท่านแทนตัว และประสงค์จะแนะนำให้ท่านและพี่จรรยา รู้จักทั้งคุณปรีดา อ.ทองแถม และวง “หมาเก้าหาง” มากขึ้น ผ่าน “ทาง” กวีปรีดา”

เมื่ออาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ทราบว่าตัวแทนชาวคณะ “ทางอีศาน” จะไปเยี่ยมคารวะ อาจารย์ฉัตรทิพย์ ~ อาจารย์จรรยา นาถสุภา จึงส่งบทวิจารณ์ชิ้นนี้มาเพื่อเจตนาดังที่ท่านแจ้ง พิจารณาโดยเนื้อหา เห็นเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่จะเข้าใจจิตใจคนทำหนังสือ เห็นทิศทางของหนังสือ รับรู้กิจการกิจกรรมที่พวกเราประกอบสร้างขึ้น จึงได้นำลงเผยแพร่ในบัญชรนี้ – บ.ก.

Related Posts

บทที่ 7 บทเรียนล้ำค่า
ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๒๖
ภาพฝัน โดย สมคิด สิงสง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com