พระยืนพุทธมงคล มหาสารคาม รอยศรัทธาคุณค่าของตำนาน
พระพุทธรูปโบราณประดิษฐานวัดใด ถ้าวัดนั้นบริหารจัดการดี ย่อมเป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชน เสมือนมีแม่เหล็กดึงดูดคนให้เข้าวัด อย่างพระพุทธรูปยืนพุทธมงคล วัดพุทธมงคล อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พระคู่บ้านคู่เมืองมาแต่อดีตกาล
พุทธลักษณะของพระพุทธรูปพุทธมงคลเป็นพระพุทธรูปยืน สร้างด้วยหินทราย ศิลปะทวารวดี สูงประมาณ ๔ เมตร ประดิษฐานอยู่ใต้ร่มโพธิ์ ตามประวัติเล่าขานว่า เดิมมีบางส่วนชำรุดไป เนื่องจากกาลเวลา สืบมาได้ต่อเติมจนสมบูรณ์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ
แต่ละวัน มีพุทธศาสนิกชนเข้ากราบไหว้เป็นจำนวนมาก นอกจากกราบไหว้เพราะนับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะชื่อของพระเป็นมงคล ทางวัดเปิดให้เข้ากราบนมัสการได้ตลอดเวลา
บริเวณต้นโพธิ์ที่ประดิษฐาน ปรากฏร่องรอยอิฐเก่า ใบเสมาโบราณ เสมือนหลักฐานยืนยันอายุและการหยัดอยู่ของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
การสร้างพระพุทธรูปพุทธมงคล มีตำนานเล่าขานกันต่อ ๆ ตัวอย่างตำนานที่แพร่หลาย ซึ่งอ่านได้จากแผ่นป้ายที่วัด เนื้อความอย่างย่อคือ แต่เดิมหย่อมย่านนี้ชื่อ คันธาธิราช ระบุพ.ศ.ไว้ด้วยว่า พ.ศ.๑๓๒๘ พุทธศักราชนี้ เราชาวสยามยังไม่ได้เข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองบนดินแดนแหลมทอง สุโขทัยก็ยังไม่เกิด แหลมทอง พ.ศ.นั้นอยู่ในยุคทวารวดี
เรื่องมีอยู่ว่า ท้าวลินจงปกครองเมืองคันธาธิราช มีบุตรชื่อท้าวลินทอง บุตรชายเป็นคนมีจิตใจเหี้ยมโหด บิดาเห็นว่าลูกขาดคุณธรรม จึงไม่ยกบ้านเมืองให้ปกครองทำให้ลูกไม่พอใจ จึงจับพ่อและแม่ไปทรมาน แล้วบังคับให้มอบสมบัติให้ ผู้เป็นบิดาทนความทรมานไม่ไหวถึงกับขาดใจตายไป แต่ก่อนขาดใจตายได้อธิษฐานว่า “หากผู้ครองเมืองนี้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจโหดเหี้ยม ขาดคุณธรรม ขออย่าให้มีความสุขความเจริญ..” อธิษฐานเสร็จก็แยกจิตจากสังขารไป แม้นบิดาตายไปแล้วท้าวลินทองก็หาได้หยุดชั่วร้ายไม่ ยังฆ่านางบัวคำผู้เป็นแม่ให้แม่ตายตามไปอีก ด้วยบาปกรรมที่ทำไว้ เมื่อขึ้นครองบ้านเมืองก็เกิดกลียุค โหรแนะนำให้สร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลลบล้างบาป ท้าวลินทองจึงสร้างพระพุทธมิ่งเมืองไว้ที่วัดสุวรรณาวาสแทนคุณมารดา และสร้างพระพุทธมงคลไว้ที่วัดพุทธมงคลเพื่อแทนคุณบิดา แล้วท่านก็ล้มป่วยตายไป ในตำนานเล่าขานว่า เมืองคันธาธิราชไม่มีผู้ปกครองต่อ กลายเป็นเมืองร้างไปนาน จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จุลศักราช ๑๒๓๖ หรือ พ.ศ. ๒๔๑๗ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นมาใหม่ ให้ใช้ชื่อเมืองว่าคันธาวิชัย หรือ เมืองกันทะวิชัย ส่วนพระพุทธรูปทั้งสองได้มีการปฏิสังขรณ์ต่อเติมส่วนที่หายไปในปี พ.ศ. ๒๔๖๐
ตำนานท้าวลินทองสร้างพระพุทธรูปนี้ หากมองเฉพาะเค้าโครงเรื่องก็จะคล้าย ๆ กับ “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” และ “พญากง พญาพาน” นั่นคือ คนสร้างสำนึกผิดต่อการทำร้ายบิดามารดา แล้วสร้างสิ่งที่เคารพในพระพุทธศาสนาเป็นการไถ่บาป ทั้ง ๓ เรื่องแม้รายละเอียดจะแตกต่างกัน แต่พล็อตเรื่องแนวเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า ยุคสมัยของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดินแดนที่เกิดตำนานเหล่านี้ ชาวบ้านชาวเมืองเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนรู้ดีรู้ชั่วกลัวบาปกลัวกรรม จึงต้องไถ่บาป กล่าวโดยสรุปคือเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ไถ่บาปด้วยการสร้างพระธาตุ เรื่องพญากงพญาพานไถ่บาปด้วยการสร้างพระเจดีย์ ส่วนท้าวลินทองไถ่บาปด้วยการสร้างพระพุทธรูป
ยังมีตำนานเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธมงคลของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคามว่า พระพุทธรูปยืนพระพุทธมงคลและพระพุทธรูปมิ่งเมือง พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกันคือ เมื่อคราวกันทรวิชัยฝนแล้ง ผู้ชายสร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนพุทธมงคล เสร็จพร้อมกันแล้วทำการฉลองอย่างมโหฬาร ปรากฏว่าตั้งแต่สร้างพระพุทธรูปทั้งสององค์แล้ว ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
ตำนานที่สอง แม้จะไม่มีรายละเอียดมาก แต่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในเขตอำเภอกันทรวิชัยในปัจจุบัน แต่โบราณกาลมา มีคนนับถือพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ยามใดที่เกิดเหตุร้ายต่อบ้านเมือง ชาวบ้านต่างน้อมนำเอาพระพุทธศาสนามาเป็นที่พึ่ง เห็นได้จากเมื่อฝนแล้งก็สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นต้น
คนไทยไม่ว่าจะอยู่ท้องถิ่นใด มักมี “ตำนาน” เล่าประกอบประวัติบ้านเมือง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จริงอยู่ว่าตำนานแต่งขึ้นเพื่อบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีการเสริมเติมแต่ง แต่ในแต่ละตำนานก็มีเค้าความจริงอยู่มากน้อยต่างกันไป
เค้าความจริงที่ซ่อนอยู่ในแต่ละตำนานคืออะไร ส่วนนี้คือเสน่ห์อันท้าทายคนรุ่นหลังให้ค้นหา