“คารคี” ฤๅษีหญิงแห่งโลกตะวันออก

“คารคี” ฤๅษีหญิงแห่งโลกตะวันออก

คารคี นักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิงแห่งภารตะประเทศ
ภาพจาก https://www.booksfact.com/vedas/ status-of-women-in-vedic-culture.html

โลกของปรัชญาตะวันตกซึ่งเริ่มต้นในกรีกดูเหมือนจะถูกผูกขาดด้วยผู้ชาย นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกคุ้นเคย เช่น โสกราตีส (Socrates 399 BC) เพลโต (Plato 428/427 or 424/423-348/347 BC) อริสโตเติล (Aristotle 384-322BC) ฯลฯ ล้วนเป็นผู้ชายแทบทั้งสิ้น นักปรัชญาหญิงชาวกรีกเพียงคนเดียวที่โลกรู้จักคือ ไฮพาเทีย (Hypatia 350-370 AD) เธอเป็นนักปรัชญาลัทธิเพลโตใหม่ (Neoplatonist) นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ ผู้ค้นพบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ก่อนโคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus Torinensis ค.ศ.๑๔๗๓-๑๕๔๓) และกาลิเลโอ (Galileo Galilei ค.ศ.๑๕๖๔-๑๖๔๒) ส่วนผู้หญิงกรีกอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปรัชญา คือ ซานทิปป์ (Xantippe 5th- 4th century BCE) ภรรยาของโสกราตีส ซานทิปป์ได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงอารมณ์ร้าย โสกราตีสเองได้เคยกล่าวถึงเธอไว้ว่าเพราะเขาสามารถใช้ชีวิตกับซานทิปป์ได้ เขาจึงสามารถใช้ชีวิตกับมนุษย์คนใดก็ได้

ตรงกันข้ามกับโลกปรัชญาตะวันตก โลกปรัชญาตะวันออกของภารตประเทศหรืออินเดียโบราณได้เคยมีปรากฏการณ์ทางปรัชญาของบรรดานักปรัชญาหญิงในยุคพระเวท (1500-500 BCE) ที่ถือกันว่าเป็นยุคแรกของอารยธรรมอารยันในอินเดีย ชาวภารตะโบราณเรียกนักปรัชญาในยุคนี้ว่า “ฤๅษี” คำว่า ฤๅษี มาจากคำว่า Rishis ในภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายถึงฤๅษีชาย ส่วนฤๅษีหญิงนั้นภาษาสันสกฤตใช้คำว่า Rishikas คัมภีร์ฤคเวท (Rig Vedic) ได้บันทึกไว้ว่าแม้ฤๅษีส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ยุคนี้ก็มีฤๅษีหญิงอย่างน้อยราว ๓๐ คน ในจำนวนทั้งหมดของฤๅษีหญิงเหล่านี้หลายคนเป็นภริยาหรือบุตรีของฤๅษีชาย

การมีครอบครัวของนักปรัชญาชาย หรือฤๅษีชายในยุคพระเวท ถือเป็นเรื่องปกติของสังคมภารตะสมัยนั้น การรับความเชื่อที่ว่าพลังเพศหญิงคือพลังจักรวาลต่อจากชาวดราวิเดียนชนพื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำสินธุ ทำให้วัฒนธรรมยุคพระเวทของชาวอารยันผู้อพยพเข้ามาใหม่ไม่กีดกันการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้หญิง พวกเขาคิดว่าหากปราศจากพลังเพศหญิง จิตวิญญาณทั้งของนักรบและนักปรัชญาไม่อาจเติบโต โดยนัยนี้การแต่งงานจึงทำหน้าที่เสมือนสะพานผ่องถ่ายพลังเพศหญิงไปสู่เพศชาย การเกิดขึ้นภายหลังของไศวะนิกายในศาสนาฮินดูที่พระศิวะมีพระนางปาราวาตีเป็นคู่ครองสะท้อนถึงการสืบทอดความเชื่อดังกล่าว ไศวะนิกายในกาลต่อมาได้ถ่ายทอดความเชื่อนี้ให้แก่ลัทธิตันตระของพุทธศาสนามหายาน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมลัทธิตันตระของพุทธศาสนามหายานจึงถือว่าการร่วมเพศระหว่างโยคี (ฤๅษีชาย) และโยคีนี (ฤๅษีหญิง) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุธรรม

ในยุคพระเวทนักปรัชญาหญิง หรือฤๅษีหญิง ผู้เป็นตัวแทนของพลังเพศหญิงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้นได้แก่ วาจ อามภฤนี (Vach Ambrini) บุตรีของฤๅษี อัมภฤน (Ambhrun) โลปมุทรา (Lopamudra) ภริยาของฤๅษีอาคัสตยะ (Agasthya) โฆษา กากศิวตี (Ghosha Kakashivati) ภริยาของฤๅษี รุศ กากศิวัน อังคีรส (Rush kakashivan Angirasa) อตริ (Atri) บุตรีของฤๅษี ภรัทวชา (Bharadwaja) อรุณธตี (Arundhati) หนึ่งในภรรยาทั้งเจ็ดของฤๅษีวสิษฏะ (Vasishta) นอกจากนี้ยังมีอปาลา (Apala) บุตรีของอตริ (Atri) วิศววาร (Vishvavara) โรมศา (Romasha) ไมเตรยะ (Maitreya) เป็นต้น อย่างไรก็ตามในบรรดานักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิงเหล่านี้ หนึ่งในฤๅษีหญิงที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านสตรีศึกษาของอินเดียปัจจุบันมากเป็นพิเศษก็คือ “คารคี” (Gargi)

วรรณคดีสันสกฤตไม่เพียงแต่ระบุว่าคารคีเป็นหนึ่งในนักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิงของยุคพระเวท แต่ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าเธอได้รับเกียรติสูงสุดของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะนักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิง คารคี ในวรรณคดีสันสกฤตมีชื่อเต็มว่า คารคี วาจักนวี (Gargi Vachaknavi) คำว่า คารคีมาจากชื่อ คะคะ (Gaga) ฤๅษีชายผู้ยิ่งใหญ่ บรรพบุรุษของเธอ ส่วนคำว่า วาจักนวี (Vachaknavi) มาจากคำว่า วจักนุ (Vachaknu) ซึ่งเป็นชื่อของฤๅษีผู้เป็นบิดาของเธอนั่นเอง

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าคารคีลืมตาดูโลกเมื่อราวเจ็ดร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช อุปนิสัยที่รักการศึกษาเล่าเรียนของเธอนับแต่เยาว์วัยทำให้เธอเติบโตเป็นนักปราชญ์หญิงผู้แตกฉานในคัมภีร์พระเวททั้งสี่ (ฤคเวทใช้ในการสวดสรรเสริญเทพเจ้า สามเวทใช้สำหรับสวดในพิธีกรรมถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า ยชุรเวทว่าด้วยระเบียบวิธีใช้ในพิธีบูชายัญและบวงสรวงต่าง ๆ และอาถรรพเวทใช้เป็นที่รวบรวมคาถาอาคมหรือเวทมนตร์) ซึ่งผู้เข้าถึงความรู้ดังกล่าวจำกัดอยู่เพียงนักปรัชญาชายหรือฤๅษีชายไม่กี่คน ความรอบรู้ในคัมภีร์พระเวทส่งผลให้เธอได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนทั่วไปในฐานะนักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิงผู้เข้าใจธรรมชาติ (วิทยาศาสตร์) และผู้สามารถอรรถาธิบายปรัชญาต่าง ๆ ในคัมภีร์พระเวทได้อย่างลึกซึ้ง ผู้คนในสมัยนั้นขนานนามเธอว่าพรหมวาทินี (Brahmavadini) หมายถึง บุคคลผู้มีความรู้เกี่ยวกับพรหม พระเจ้าแห่งสากลจักรวาล เหนืออื่นใดผู้คนในสมัยนั้นยังเชื่อด้วยว่าเธอได้เข้าถึงอาตมา (aatma) พลังแห่งสากลจักรวาลที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ทว่ามนุษย์ทั่วไปค้นพบได้ยากยิ่ง

คารคีฤๅษีหญิงขณะวิวาทะทางปรัชญากับยาชญะวัลกยะฤๅษีชาย ภาพจาก https://shells-tales-sails.blogspot. com/2017/04/v-for-gargi-vachaknavi-female. html

เรื่องของคารคีอาจถูกโลกลืมหรือถูกจำเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับฤๅษีหญิงและผู้หญิงทั่วไปคนอื่น ๆ หากว่าเธอมิได้เข้าร่วมการแข่งขันวิวาทะทางปรัชญากับนักปรัชญาชายหรือฤๅษีชาย การแข่งขันวิวาทะครั้งนั้นจัดขึ้นโดยพระราชานามว่า ชนก (Janaka) แห่งเมืองวิเทหา (Videha) เล่ากันว่าสาเหตุที่พระองค์จัดงานนี้ขึ้นเพราะพระองค์เป็นผู้รักความรู้เช่นเดียวกับเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยนั้นนั่นเอง ที่สำคัญพระองค์ทรงอยากทราบว่า ในบรรดานักปรัชญาหรือฤๅษีทั้งปวงที่เป็นชนชั้นนำทางปัญญาในยุคของพระองค์นั้น ใครเป็นผู้ที่ปราดเปรื่องและรู้แจ้งที่สุดในเรื่องของพรหม โดยพระองค์ทรงประกาศว่าจะมอบวัวหนึ่งพันตัวพร้อมทองคำบนเขาวัวทุกตัวตัวละสิบกรัมเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ

แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อนักปรัชญาชายหรือฤๅษีชายนาม “ยาชญะวัลกยะ” (Yajnavalkya) ผู้มั่นใจในความรู้ของตนว่ามีเหนือกว่าทุกคนในแว่นแคว้น ได้สั่งให้ลูกศิษย์ไปต้อนวัวรางวัลมาไว้ที่บ้านของเขา การกระทำนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่นักปรัชญาหรือฤๅษีคนอื่น ๆ เพราะพวกเขาเห็นว่าช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย อย่างไรก็ดีการณ์กลับกลายเป็นว่าฤๅษีส่วนใหญ่ในบรรดาผู้ไม่พอใจเหล่านั้นกลับไม่กล้าโต้แย้งสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากพวกเขาคิดว่าพวกตนมีความรู้เพียงน้อยนิด ไม่มากพอที่จะวิวาทะโค่นล้มคำตอบทางปรัชญาของยาชญะวัลกยะได้ ในที่สุดจึงมีนักปรัชญาหรือฤๅษีผู้กล้าเสนอตนวิวาทะกับยาชญะวัลกยะเพียง ๘ คนเท่านั้น และคารคีก็เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในสนามประลองทางปรัชญาครั้งนี้

นักปรัชญาหรือฤๅษีที่กล้าหาญพอที่จะวิวาทะกับยาชญะวัลกยะคือ อัสวลา (Asvala) อรตภาค (Artabhaga) นิฆาตี (Nightie) อุษัสตะ (Ushasta) ฯลฯ แต่คนเหล่านี้ต่างพ่ายแพ้ให้แก่ยาชญะวัลกยะ พวกเขาต่างพอใจคำตอบที่ได้รับจากยาชญะวัลกยะ กล่าวสำหรับวิวาทะระหว่างคารคีและยาชญะวัลกยะเป็นการเฉพาะนั้น ประวัติศาสตร์มิได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ชนะ เพียงแต่บันทึกว่าไม่มีผู้ใดวิวาทะกับยาชญะวัลกยะได้นานเท่าคารคี และคารคีได้รับรองความยิ่งใหญ่ของยาชญะวัลกยะ ส่วนตัวเธอเองภายหลังนั้นได้รับเกียรติจากพระราชาชนกให้เป็นหนึ่งในเก้าอัญมณี (Nag – ratnas nine gems) แห่งราชสำนักของเมืองมิถิลา (Mithila)

ความรอบรู้และความเฉลียวฉลาดของคารคีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในวิวาทะกับยาชญะวัลกยะเมื่อเธอตั้งคำถามเกี่ยวกับธาตุพื้นฐานของโลก ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลกับจักรวาล รวมถึงคำถามเรื่องอาตมัน คำถามที่ถึงกับทำให้ผู้ร่วมวิวาทะนิ่งเงียบ โดยคารคีได้เริ่มต้นคำถามที่ไปไกลกว่า “ทาเลส” (Thales 624/623 – 548/545 BC) นักปรัชญากรีกโบราณผู้กล่าวว่าโลกสร้างขึ้นจากน้ำ คำถามของคารคีนั้นมีว่า “เนื่องจากโลกสร้างขึ้นจากน้ำ ข้าจึงอยากรู้ว่าน้ำสร้างขึ้นจากอะไร” ยาชญะวัลกยะได้ตอบว่า “สิ่งอื่น ๆ เช่น อากาศ” คำตอบนี้ไม่ทำให้คารคีรู้สึกพอใจ เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจึงรุกเขาต่อไปด้วยคำถามที่ว่า “แล้วอากาศเล่ามันถูกสร้างขึ้นจากอะไร” ยาชญะวัลกยะได้ตอบว่า “อากาศถูกสร้างขึ้นจากโลกที่มีดินแดนเป็นตัวกลาง” จากนั้นคารคีจึงถามต่อไปว่า “แล้วโลกที่มีดินแดนเป็นตัวกลางเล่า มันถูกสร้างขึ้นจากอะไร” คำถามทำนองนี้ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งยาชญะวัลกยะได้ตอบว่า “ทุกอย่างในโลกถูกสร้างขึ้นจากพรหม ความจริงแท้สูงสุด”

คำตอบดังกล่าวแน่นอนว่าไม่ได้ทำให้คารคีพอใจหรือหายสงสัย ดังนั้นเธอจึงตั้งคำถามต่อไปว่า “แล้วโลกของพรหมเล่า มันถูกสร้างขึ้นจากอะไร” หลังจากได้ฟังคำถามนี้ยาชญะวัลกยะถึงกับนิ่งเงียบและปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ถึงกระนั้นเขายังได้กล่าวแก่คารคีก่อนจะยุติวิวาทะว่า “อย่าตั้งคำถามให้มากนักเลย มิเช่นนั้นแล้วหัวของเจ้าจะแหลกละเอียด” การตั้งคำถามของคารคีในเรื่องสุดท้ายนี้ แสดงให้เห็นว่าเธอมีความกล้าหาญมาก เพราะสังคมภารตะสมัยโบราณมีความเชื่ออย่างฝังหัวหรือสุดจิตสุดใจว่า ทุกสิ่งในโลกรวมถึงมนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากพรหม แต่คำถามของเธอที่ย้อนกลับไปถามว่า แล้วพรหมถูกสร้างขึ้นจากสิ่งใดนั้นเผยให้เห็นถึงความเป็นขบถ ผู้สงสัยต่อการมีอยู่ของพรหมหรือพระเจ้า ซึ่งราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลพบว่าแนวคิดนี้ได้กลายเป็นรากฐานของปรัชญาที่ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นปรัชญาสายนาสติกะ (Unorthodox system) ซึ่งท้าทายพระเวทอย่างชัดเจนในช่วง ๗๐๐-๘๐๐ ปีต่อมา (ระบบปรัชญาในช่วงนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ อาสติกะ (Orthodox system) ที่เชื่อว่าโลกเคลื่อนด้วยพระผู้สร้างจาก ๖ สำนักได้แก่ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมามสา และเวทานตะ โดยพยายามนำเสนอและพิสูจน์ความจริงในพระเวท ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือนาสติกะ (Unorthodox system) ที่เชื่อว่าโลกเคลื่อนด้วยเหตุปัจจัย ได้แก่ พุทธ เชน และจารวาก กลุ่มนี้ไม่เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่จารึกไว้ในพระเวทนั้นเป็นความจริงและเป็นที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์หรือท้าทายด้วยหลักการใด ๆ) ในที่สุดวิวาทะทางปรัชญาได้จบลงด้วยการที่ยาชญะวัลกยะเป็นผู้ชนะ แต่เป็นชัยชนะที่ดูเหมือนจะทำให้เขาอับอาย แล้วสิ่งไม่คาดฝันที่กระทำโดยยาชญะวัลกยะก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเขาปฏิเสธที่จะรับฝูงวัวและทองคำบนเขาวัวเป็นรางวัล อีกทั้งตัดสินใจที่จะสละละทิ้งการดำรงชีวิตในเมืองเพื่อไปใช้ชีวิตเยี่ยงฤๅษีผู้สันโดษในป่าเขา

คารคีฤๅษีหญิงแห่งภารตะประเทศยุคพระเวท
ภาพจาก https://edtimes.in/rishi-gargi-worlds-oldest-icon-feminism-ancient-hinduism/

คารคีเป็นเพียงตัวอย่างของนักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิงในยุคพระเวท ที่สถานภาพของผู้หญิงบนแผ่นดินภารตะยังไม่ถูกทำให้ตกต่ำเช่นในสมัยหลัง เรื่องของเธอขณะวิวาทะทางปรัชญากับยาชญะวัลกยะได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์อุปนิษัท เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ผู้หญิงรุ่นต่อมา รุ่นหลัง จนกระทั่งถึงรุ่นปัจจุบันได้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งในอดีตสมัยที่ระบบผู้ชายเป็นใหญ่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะหยั่งรากลึกลงในสังคมภารตะหรืออินเดีย โลกตะวันออกเคยมีนักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิง ผู้เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ซึ่งสังคมที่สามารถสร้างนักปรัชญาหญิงหรือฤๅษีหญิงได้เช่นนี้จำเป็นต้องเป็นสังคมที่ให้เกียรติ ชื่นชม และนับถือคุณค่าของความเป็นหญิง ดังอักษรที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทความว่า

“ผู้หญิงเป็นพลังพื้นฐานของจักรวาล เป็นผู้มีความคิด เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ เป็นผู้นำอาหารมาสู่ผู้ชาย เป็นผู้นำความยิ่งใหญ่มาสู่ชายคนรัก เป็นผู้ดูแลผู้ชายเพื่อทำให้เขาเป็นนักปราชญ์หรือฤๅษี ทำให้เขารู้จักพรหมหรือพระเจ้า ผู้หญิงเป็นผู้นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่แผ่นดิน เป็นผู้สร้างทั้งนรกและสวรรค์ เป็นพลังภายในซึ่งสถิตอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ และเป็นเจตจำนงทุกอย่างในการสร้างโลก”

เอกสารอ้างอิง

ความหมายของ “ตันตระ” https://www.watpra shivajao.com/14968808/%E 0%B8% 84% E0% B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%

ประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ ๒๐ : ไฮพาเทีย นักคณิตศาสตร์ หญิงผู้น่าสงสาร https://mathhistorythai. wordpress. com/2020/08/05/mathhis20/

Women in Hinduism. https://en.wikipedia.org/ wiki/Women_in_Hinduism

ปรัชญาอินเดีย –s-mcu-corat-Google Sites. https:// sites.google.com/site/smcucorat/ Home/khxmul-web/ ph/sakha-wicha-prachya/naew-sangkhep-raywicha/ bthkhwam-thi-keiywkhxng-prach/prachya-xindeiy.

Aristotle. https://en.wikipedia.org/wiki/Aristotle

FEMALE RISHIS( Rishikas) SPEAKINGTREE.IN. www. speakingtree.in

Gargi Vachaknavi Wikipedia. https://en.wikipedia. org/wiki/Gargi_Vachaknavi

Gargi The first Woman Philosopher Of the World. www.awaaznation.com

Great Indian woman Philosophers. https:// mruganayanee.wordpress.com/2013/04/10/great-indian[1]women-philosophers

Great Indian Women Vandana Twitter 7 ก.ค. 2018

Hindupedia, the Hindu Encyclopedia. www. hindupedia.com

Hypatia. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypatia

Plato-Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/ Plato

Philosopher File : Gargi Vacaknavi. www.looking forwisdom.com

Right Women. indianscriptures@gmail.com

Sanchari Pal. The Story of Rishi Gargi: The World ‘s Oldest Icon of Feminism Found in Ancient Hinduism. https://edtimes.in/rishi-gargi-worlds-oldest-icon[1]feminism-ancient-hinduism/.

Socrates Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/ Socrates.

Xantippe. https://en.wikipedia.org/wiki/Xanthippe

******

“บุปผา ล้านนา” ลูกครึ่งลาวล้านนาและลาวล้านช้าง ผู้ค้นพบว่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่เธอตามหาชั่วชีวิตแท้จริงแล้วอยู่ที่วัฒนธรรมไท-ลาว วัฒนธรรมของปู่ย่าตายายที่ผูกจิตวิญญาณเธอไว้กับสายเลือดและถิ่นกำเนิด… เกิดที่หมู่บ้านเชียงทอง เมืองตาก หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำปิงใสสะอาดและสวยงาม  หมู่บ้านที่ชาวบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่าเจ้าหลวงผู้ก่อตั้งหมู่บ้านในอดีตนั้นมีเชื้อสายเจ้าเมือง “เชียงทอง” หรือ “หลวงพระบาง” ในประเทศลาว         

“บุปผา ล้านนา” ใช้ชีวิตเยาว์วัยที่เมืองตากจนถึงมัธยมปลาย จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานเป็นนักข่าวและนักเขียนสารคดีที่กรุงเทพฯอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะได้รับทุนจากรัฐบาลอินเดียให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Savitribai Phule Pune University  ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้หลงรักการเขียนหนังสือ  เธอไม่ได้เขียนเพียงเพื่อสื่อสารกับตนเอง มิตรสหาย และผู้คนรอบข้าง แต่การเขียนยังเป็นพันธกิจทางอุดมคติของเธออีกด้วย

*****

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๗  เดือนมีนาคม ๒๕๖๔

บทความเรื่อง “คารคี” ฤๅษีหญิงแห่งโลกตะวันออก
แปลและเรียบเรียงโดย “บุปผา ล้านนา”

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ร่องรอยหลักฐาน
แม่ผู้เพาะต้นกล้าภาษา และวัฒนธรรมไทยในสวิส
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมนักคิดสตรีนิยม และสตรีนิยมสายต่าง ๆ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com