เงินตราโบราณในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๔)

เงินตราโบราณในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๔)

เหรียญเงินตราแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ ขนาดหนึ่งบาท

            เหรียญเงินสยามที่มีใช่แพร่หลายไปทั่วดินแดนภาคอีสาน และหัวเมืองอื่น ๆ คงจะหนีไม่พ้นเหรียญเงินตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๕ เหรียญเงินยุคนี้เริ่มมีการพัฒนาอย่างรูปแบบชาติตะวันตกมากขึ้น มีการนําพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์มาไว้บนเหรียญ ซึ่งในอดีตใช้เพียงตราพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์เท่านั้น การเสด็จประพาสตะวันตกของรัชกาลที่ ๕ ได้นํามาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของสยาม รวมถึงพัฒนาการของเหรียญกษาปณ์ที่ใช้เป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยนด้วย

            หลังการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ ๕ มีการออกแบบตราแผ่นดินให้มีรูปแบบอย่างประเทศตะวันตก เรียกกันว่า ตราอาร์ม ซึ่งตราแผ่นดินนี้มีสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือ

            ด้านบนเป็นตราพระเกี้ยวภายใต้จักรและตรีไขว้ เรียกว่า ตรามหาจักรี แทนความหมายพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี

            ใต้ลงมาเป็นรูปโล่ แบ่งออกเป็น ๓ ห้อง โดย ส่วนบนแบ่งเป็น ๑ ห้อง ส่วนล่างเป็น ๒ ห้องหมายถึงดินแดนภายใต้การปกครองของสยามในขณะนั้นคือ

            ๑. ห้องด้านบนเป็นภาพช้าง ๓ เศียร หมายถึง อาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างจําปาสัก ภายหลังพระราชอาณาจักรลาว ก็ได้ใช้ตราช้าง ๓ เศียรนี้ไปเป็นตราแผ่นดิน

            ๒. ห้องล่างด้านขวาเป็นภาพช้างเผือก หมายถึง ดินแดนประเทศสยามอันรวมดินแดนล้านนา เข้าด้วยแล้ว

            ๓. ห้องล่างด้านซ้ายเป็นภาพกริชคดและกริชตรงไขว้กัน หมายถึง หัวเมืองประเทศราชมลายู

          ต่อจากฉัตรทางด้านขวาเป็นภาพคชสีห์ประคองฉัตร ส่วนทางด้านซ้ายเป็นภาพราชสีห์ ประคองฉัตร คชสีห์ หมายถึงข้าราชการฝ่ายกลาโหม ซึ่งเป็นใหญ่ทางฝ่ายทหาร ส่วนราชสีห์ หมายถึงข้าราชการฝ่ายมหาดไทย ซึ่งเป็นใหญ่ทางฝ่ายพลเรือน ทั้งสองฝ่ายนี้มีหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักรและคํ้าจุนพระราชบัลลังก์

            หลังจากมีการออกแบบตราแผ่นดินดังที่กล่าวไป ก็มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นใหม่ โดยนําพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ มาไว้บนเหรียญอย่างประเทศตะวันตก ด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน และบอกราคาหน้าเหรียญไว้เหรียญรุ่นนี้ผลิตขึ้น พ.ศ.๒๔๒๐ มี ๓ ขนาดด้วยกันคือ บาท สลึง และเฟื้อง ขนาดสลึงกับเฟื้องนั้นมีการย่อตราแผ่นดินให้เล็กลง เพื่อให้เหมาะกับขนาดของเหรียญ

            เหรียญในยุคแรก ๆ ที่มีการผลิต (พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๔๔) ไม่ระบุปีที่ผลิตไว้บนเหรียญ แต่ยุคต่อมา (พ.ศ.๒๓๔๕-๒๔๕๑) มีการระบุปีที่ผลิตไว้บนตัวเหรียญ โดยระบุเป็นปีรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ซึ่งเป็นศักราชที่บัญญัติขึ้นใช้ร่วมกับปีพุทธศักราชในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นปีรัตนโกสินทร์ศกที่ ๑

            เหรียญเงินชุดนี้เป็นเหรียญที่ใช้แพร่หลาย และใช้ยาวนานตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการผลิตเป็นจํานวนมาก กระจายไปใช้ตามหัวเมืองสําคัญของสยาม รวมทั้งหัวเมืองประเทศราชบางส่วนด้วย ขณะนั้นดินแดนภาคอีสานและดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขง ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจําปาสักแต่เดิมสยามได้เข้าไปดูแลเรื่องการปกครองเองทั้งหมด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๑ เป็นต้นมา โดย พ.ศ.๒๔๓๓ สยามแบ่งการปกครองออกเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายต่าง ๆ คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่เมืองจําปาสัก หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่อุบลราชธานีหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีข้าหลวงดูแลอยู่เมืองหนองคาย และหัวเมืองลาวฝ่ายกลางมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่นครราชสีมา

            จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๓๔ ให้มีการรวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือเปลี่ยนเป็นหัวเมืองลาวพวน หัวเมืองลาวฝ่ายกลางเรียกใหม่เป็นหัวเมืองลาวกลาง นอกจากนี้สยามได้พยายามเข้าไปจัดตั้งหัวเมืองอีกหัวเมืองหนึ่งคือ หัวเมืองลาวพุงขาว ดินแดนของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางแต่เดิม ในอดีตสยามไม่ได้เข้าไปปกครองแต่ถือเป็นเมืองประเทศราช จนทําให้เจ้านครหลวงพระบางไม่พอใจ แล้วหันไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสให้ขจัดอิทธิพลของสยาม จนต่อมาเกิดเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ (เป็นความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส) หัวเมืองที่สยามตั้งขึ้นเหล่านี้มีข้าหลวงคอยดูแลผลประโยชน์ และเก็บส่วยส่งไปยังกรุงเทพฯ

            ต่อมามีการเรียกชื่อใหม่จากหัวเมืองเป็นมณฑล คือ มณฑลลาวกาว มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกลาง ส่วนดินแดนล้านนาเดิมที่เรียกหัวเมืองลาว พุงดําเรียกใหม่ว่ามณฑลลาวเฉียง (เป็นความเข้าใจผิดของราชสํานักสยามที่คิดว่าคนยวนล้านนาก็คือคนลาว) แต่เดิมคนล้านนาซึ่งมี สำเนียงการพูดเหมือนคนลาวแถวหลวงพระบาง มักสักลายครึ่งตัวตั้งแต่เอวลงมาจนถึงขา สยามจึงเรียกคนยวนล้านนาว่าลาวพุงดํา ส่วนคนลาวแถวหลวงพระบางไม่นิยมสักแบบนี้จึงเรียกว่าลาวพุงขาว

            การที่สยามได้เข้าไปจัดการปกครองในดินแดนของอาณาจักรล้านช้างแต่เดิม ได้ส่งผลให้เงินตราของสยามเข้าไปมีบทบาทยังดินแดนเหล่านี้ด้วย อย่างเช่นแถบเมืองเลยเมืองเชียงคาน เมืองแก่นท้าวตาม บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๘ ของ เอเจียน แอมอนิเย นักสํารวจชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกไว้ว่า “ในภาคพื้นนี้ใช้เงินบาทสยาม และเงินแถบของอังกฤษที่มีรูปพระราชินีวิคตอเรีย”

            เงินบาทสยามที่กล่าวถึงนั้นเป็นเงินบาทตราแผ่นดินนี้อย่างแน่นอน เพราะเงินตราชนิดนี้ได้กระจายไปใช้ยังดินแดนที่สยามได้เข้าไปจัดการปกครองแม้แต่ในหลวงพระบางก็ยังสามารถพบเงินบาทตราแผ่นดิน ที่ยังคงเหลือค้างตกทอดมายังลูกหลานของคนลาวที่นั่นพอสมควร

            กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๗) สยามและฝรั่งเศสได้ทําสัญญาแบ่งเขตแดนกันโดยใช้แม่นํ้าโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน ฝั่งขวาแม่นํ้าโขง (ภาคอีสานปัจจุบัน) เป็นของสยามฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาวปัจจุบัน) เป็นของฝรั่งเศส จากนั้นสยามได้เปลี่ยนชื่อมณฑลในกํากับที่เหลืออยู่คือ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลอุดร มณฑลลาวเฉียง (ล้านนา) เป็นมณฑลพายัพ มณฑลลาวกาวเป็นมณฑลอีสานและเปลี่ยนชื่ออีกเป็นมณฑลอุบลตามลําดับ มณฑลลาวกลางเป็นมณฑลนครราชสีมา เป็นต้น

            การเปลี่ยนชื่อมณฑลในครั้งนั้นหากพินิจพิจารณาให้ดีคือ การพยายามลบคำว่า “ลาว” ออกจากชื่อของดินแดนฝั่งขวาแม่นํ้าโขง เพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสหาเหตุมายึดดินแดน โดยอาศัยข้ออ้างว่าฝั่งขวาแม่น้ำโขงแต่เดิมก็คือดินแดนของอาณาจักรลาวล้านช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง กระทั่งมีการจัดตั้งเมืองต่าง ๆ เป็นจังหวัด หลาย ๆ จังหวัด รวมเป็นภาค คือภาคอีสานในปัจจุบัน

            คําว่า อีสาน คือชื่อเรียกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังได้กลายมาเป็นชื่อของดินแดนและชื่อคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินนี้เรียกกันว่า “คนอีสาน” ซึ่งก็คือคนลาวนั่นเอง

            ส่วนเงินปลีกนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ผลิตเหรียญทองแดงซึ่งใช้เป็นเงินปลีกอีกรุ่นหนึ่ง เรียกกันว่าเหรียญรุ่นพระสยามเทวาธิราช ด้วยเหตุที่ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชซึ่งเป็นเทพ ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงเชื่อว่าเป็นเทวดาที่คอยปกปักรักษาสยามประเทศบนเหรียญมีพระสยามเทวาธิราชนั่งประทับบนบัลลังก์ ที่มีสัญลักษณ์แสดงดินแดนอันเป็นของสยามคือ ช่าง ๓  เศียร ช้างเผือก และกริชไขว้ มีความหมายว่าพระสยามเทวาธิราชที่คอยปกปักรักษาแผ่นดินสยาม เหรียญชุดนี้ได้แบบอย่างมาจากเหรียญของอังกฤษสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียที่มีรูปเทพเจ้าบริตาเนีย ผู้คอยปกปักรักษาเกาะอังกฤษอยู่บนเหรียญ (ไทยมาดัดแปลงเป็นพระสยามเทวาธิราช) เหรียญรุ่นนี้มี๓ ขนาดด้วยกันคือ ขนาดเซี่ยว อัฐ และโสฬส สั่งผลิตมาจากประเทศอังกฤษ

            เหรียญทองแดงชุดนี้ได้เข้ามามีบทบาทแทนเหรียญทองแดงชุดจปร-ช่อชัยพฤกษ์ (กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว) ที่ผลิตใช้ไม่นานนัก แต่เหรียญทองแดงรุ่นพระสยามเทวาธิราชนี้เป็นเหรียญเงินปลีกที่ผลิตใช้ค่อนข้างยาวนาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๐-๒๔๔๙ และได้เข้าไปมีบทบาทในหัวเมืองห่างไกลของสยาม รวมถึงหัวเมืองในภาคอีสานด้วย

            คนลาวอีสานรุ่นเก่า ๆ น่าจะรู้จักเหรียญนี้เป็นอย่างดีครับ เพราะบางพื้นที่ก็ยังมีหลงเหลือให้ลูกหลานได้ชมและเป็นมรดกตกทอดกันสืบมา

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๐)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๑)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)

***

คอลัมน์ รากเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๑ | พฤศจิกายน ๒๕๕๗

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

กลับจากอบรม
“ปลาแดก” นั้นฉันใด
ทางอีศาน 31 : ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com