เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๒)
ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ การค้าของสยามรุ่งเรืองมาก จนส่งผลให้เงินตราที่มีใช้จ่ายในตลาดคือ เงินพดด้วง หรือเงินหมากค้อ ของคนลาวอีสาน มีจํานวนไม่เพียงพอใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยน เพราะผลิตด้วยมือ กําลังผลิตค่อนข้างตํ่าผลิตได้วันละไม่กี่ร้อยบาท ทั้งที่ความต้องการใช้มีมากกว่านั้น ชาวต่างประเทศซึ่งเป็นชาวตะวันตกมักนำเงินเหรียญของตนมาซื้อขายสินค้า แต่ต้องนำเงินเหรียญนั้น ๆ หลอมเป็นเงินพดด้วง แล้วตีตราของทางราชการเสียก่อน จึงเป็นที่ยอมรับของพ่อค้าหรือราษฎรชาวสยาม
เหรียญเงินที่ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ นำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าคือ เหรียญเงินนกเม็กซิกัน ราษฎรรู้จักกันดีในชื่อเหรียญนก โดยหนึ่งเหรียญมีมูลค่า ๘ เรียล หนักประมาณ ๒๗ กรัม คําว่า เหรียญ ในภาษาไทยนี้ก็มีที่มาจากคําว่า “เรียล” ซึ่งเป็นหน่วยเงินตราของสเปน เดิมทีนั้นคนไทยไม่คุ้นชินกับเหรียญเงินแบนซึ่งในอดีตเรียกว่า “เงินแป” เพราะคุ้นเคยแต่กับเงินพดด้วงที่เรียกกันอีกชื่อว่า “เงินกลม” พอมีเงินตราซึ่งส่วนมากเป็นเหรียญนกเม็กซิโก เขามาใช้จ่ายในตลาดก็มักเรียกเงินตราที่มีลักษณะกลมแบนนี้ว่า “เงินเรียล” และเพี้ยนมาเป็น “เงินเหรียญ หรือเหรียญเงิน” ในที่สุด และพลอยเรียกสิ่งของที่มีลักษณะกลมแบนว่าเหรียญไปด้วย
ด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่ดินแดนอดีตอาณานิคมสเปนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มีเหมืองแร่ เงินจำนวนมาก จึงทำให้สเปนนำเงินเหล่านี้ผลิตเหรียญเงินออกมาเพื่อใช้ในการค้า จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แม้เปรูและเม็กซิโกจะได้รับเอกราชจากสเปนแล้ว ก็ยังใช้หน่วยเงินเรียลของสเปนดังเดิม และผลิตเงินตราออกมาในนามของประเทศตน โดยเฉพาะเม็กซิโกนั้นได้ชื่อว่าเป็นแหล่งแร่ เงินขนาดใหญ่ ผลิตเหรียญเงินในนามของรัฐบาลเม็กซิกันออกมาจํานวนมาก และใช้จ่ายไปทั่วโลก รวมถึงเข้ามาใช้จ่ายในสยามด้วย
ด้วยความยุ่งยากเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราได้เกิดขึ้นดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ต้องนําเหรียญต่างประเทศไปหลอมแล้วค่อยตีเป็นเงินพดด้วง ผู้ช่วยกงสุลอังกฤษจึงได้ทําหนังสือทูลเกล้า ถวายรัชกาลที่ ๔ ขอให้ใช้เหรียญเงิน เพื่อไม่ให้เป็นการลําบากแก่พ่อค้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้เหรียญเงินได้ในอัตรา ๓ เหรียญต่อ ๕ บาท ถ้าราษฎรไม่เชื่อเนื้อเงินเหรียญต่างประเทศก็จะตีตราที่ใช้ตีลงในพดด้วง ตีลงในเหรียญต่างประเทศด้วย
ส่วนใหญ่เหรียญเงินต่างประเทศเป็นเหรียญเงินเปรูและเหรียญนกเม็กซิโก ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงทําการค้าสําเภากับจีนและชาติตะวันตกได้เงินต่างประเทศพวกนี้มาเก็บไว้ในท้องพระคลังจำนวนมากอีกส่วนหนึ่งทรงแบ่งไปเก็บไว้ที่พระตําหนักที่ประทับ บางประวัติว่านําไปไว้ใต้แท่นที่บรรทมโดยใส่ถุงแดงเก็บเอาไว้ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ กับฝรั่งเศส รัชกาลที่ ๕ จึงได้อาศัยเงินถุงแดงนี้ชําระค่าชดเชยที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง จนทําให้สยามพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ดังจะได้เล่ารายละเอียดในโอกาสต่อไปครับ
วิธีการผลิตเงินพดด้วงด้วยมือตั้งแต่ครั้งโบราณ ทําให้เงินตราไม่พอใช้จ่ายและหมุนเวียนในตลาดรัชกาลที่ ๔ จึงทรงมีดําริที่จะให้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์แบน หรือที่เรียกว่าเงินแป เช่นเดียวกับชาติในตะวันตก จึงส่งข้าราชการติดตามพ่อค้าเดินทางไปยังอังกฤษเพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเหรียญกษาปณ์นี้
ความทราบถึงพระราชินีนาถวิคตอเรียของอังกฤษ ได้ทรงส่งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขนาดเล็กมาถวายเป็นราชบรรณาการแด่รัชกาลที่ ๔ ประกอบไปด้วยเครื่องมือตีตราและแม่ตราเครื่องตัดตัวเปล่า เครื่องกล่อมข้าง เครื่องกด เครื่องจักรทําเงินนี้มาถึงกรุงเทพฯใน พ.ศ.๒๔๐๑ กว่าจะติดตั้งเครื่องจักรเรียบร้อยก็ใช้ เวลานาน และทําการผลิตเหรียญได้เหรียญบาทประมาณ ๓๐ ชั่งหรือ ๒,๔๐๐ บาท ขนาดสองสลึงและขนาดเฟืองได้เพียงอีกเล็กน้อยก็เลิกผลิต เพราะผลิตได้วันละน้อยมาก เนื่องจากเป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก ใช้แรงงานคนเป็นหลัก
เงินตราที่ผลิตจากเครื่องจักรที่ได้รับพระราชทานจากพระนางเจ้าวิคตอเรียนเรียกชื่อกันว่า “เหรียญเงินบรรณาการ” ด้านหน้าเป็นตราพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นตราประจําพระองค์ในรัชกาลที่ ๔ ด้านหลังเป็นตราจักร ด้านในจักรเป็นรูปช้างยืน แทนความหมายว่าประเทศไทยภายใต้การปกครองของราชวงศ์จักรีทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีดาวบอกราคาไว้โดยดาวหนึ่งดวงแทนราคาหนึ่งเฟื้อง ดาวสองดวงจึงหมายถึงราคาสลึงดาวแปดดวงคือราคาหนึ่งบาท เหรียญรุ่นนี้ผลิตได้น้อยมาก รัชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ และทิ้งทานแก่ราษฎร แต่ถือเป็นเงินตราที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย
จนกระทั่งเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ ใช้แรงดันไอน้ำ มาถึงใน พ.ศ.๒๔๐๓ จึงได้ทำการผลิตเหรียญเงินออกใช้อย่างเป็นทางการ เหรียญเงินชุดนี้มีขนาดเช่นเดียวกับเงินพดด้วงคือสองบาท หนึ่งบาท กึ่งบาทหรือสองสลึง สลึง เฟื้อง และสองไพ ตามลําดับ โดยมีลักษณะคล้ายกับเหรียญเงินชุดบรรณาการ แต่ลวดลายแตกต่างกัน พอสมควรคือด้านหน้าเป็นตราพระมหามงกุฎ ด้านหลังก็ยังเป็นตราช้างอยู่ในจักร และมีดาวบอกราคา หน้าเหรียญทั้งสองด้าน แต่ลวดลายของเหรียญบรรณาการดูจะมีความอ่อนช้อยมากกว่า
เหรียญเงินชุดที่ใช้เครื่องจักรผลิตใน พ.ศ.๒๔๐๓ นี้ถือเป็นเหรียญเงินแบนหรือเงินแปชุดแรกที่มีการผลิตเพื่อใช้ หมุนเวียนในตลาด โดยที่ยังมีการผลิตใช้เงินพดด้วงควบคู่ไปด้วย ขนาดที่มีการผลิตเป็นจำนวนมากคือขนาดหนึ่งบาทซึ่งเป็นที่ต้องการใช้เฉกเช่นเดียวกับเงินพดด้วงขนาดหนึ่งบาท จนกระทั่งมีการประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วงในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วหันมาใช้เหรียญเงินอย่างเดียวดังได้กล่าวไปในฉบับที่ผ่านมาแล้ว
เหรียญเงินที่ผลิตเพื่อใช้หมุนเวียนนี้ส่วนมากกระจายไปใช้รอบ ๆ พระนคร มีสวนน้อยเท่านั้นที่มีไปใช้ยังดินแดนที่ห่างไกล เช่น ภาคใต้ ภาคเหนือ หรือล้านนาเดิม ภาคอีสาน แต่คงมีเฉพาะราคาหนึ่งบาทที่มีการผลิตจํานวนมาก ได้กระจายออกไปกับคาราวานของพ่อค้า แต่ด้วยจํานวนผลิตที่ไม่มากตลอดจนทางการไม่สามารถขนส่งเงินตราเหล่านี้ไปในระยะทางไกล ๆ ได้เพราะการคมนาคมสมัยนั้น ยังไม่สะดวก เงินเหรียญรุ่นนี้จึงไม่แพร่หลายนัก มีเพียงบางท้องถิ่นในภาคอีสานที่ได้ใช้เงินตรารุ่นนี้บ้าง
แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการสร้างทางรถไฟ ทําให้การขนส่งสะดวกมากขึ้น เงินตราสยามจากภาคกลางจึงกระจายไปตามท้องที่ต่าง ๆ ได้ทั่วถึง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่สร้างทางรถไฟระยะไกลเพิ่มเติม ทําให้เงินตราสยามเข้าไปมีบทบาทแทนเงินตราท้องถิ่นเดิม ดังจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ
****
ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๐)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๑)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)
เงินตราโบราณในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๔)
***
คอลัมน์ รากเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๙ | กันยายน ๒๕๕๗
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com